Saboteur (1942)

รีวิวหนังระทึกขวัญแนวตัวเอกถูกใส่ร้ายและต้องหนีจากการถูกตามล่า, Saboteur (1942) เป็นหนังที่มีกลิ่นอายความเป็นอเมริกันเรื่องแรกของฮิตช์ค็อก ซึ่งไอเดียของหนังเกิดขึ้นมาจากที่ตัวของผู้กำกับอยากทำหนังที่มีความเป็นอเมริกันจ๋าออกมาหลังจากพึ่งย้ายถิ่นฐานมาปักหลักที่ฮอลลิวู้ด โดยเจ้าตัวเขียนบทขึ้นมาเองร่วมกับทีมงาน

Saboteur (1942) เป็นเรื่องราวการผจญภัยของ Barry Kane (Robert Cummings) หนุ่มโรงงานเครื่องบินที่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้ก่อวินาศกรรมในการวางเพลิงโรงงานและพรากชีวิตเพื่อนของเขา ทั้งที่จริงแล้ว Kane นั้นมั่นใจว่าเป็นฝีมือของคนงานอีกคนชื่อว่า Fry (Norman Lloyd) โชคร้ายที่ไม่มีใครเชื่อเขาและหนทางเดียวที่พิสูจน์ความบริสุทธิ์ เขาต้องตามล่าหา Fry ในขณะเดียวกันก็ต้องหนีจากการจับกุมของตำรวจแบบหัวซุกหัวซุน โดย Kane ได้รับการช่วยเหลือแบบไม่เต็มใจนักจากนางแบบสาวสวย Patricia Martin (Priscilla Lane)

____________________________________

ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่หนังท็อปฟอร์มของฮิตช์ค็อก แต่ก็เป็นเรื่องที่ดูสนุก เนื้อเรื่องน่าติดตาม สมกับเป็นหนังฉบับหนังไล่ล่าของผู้กำกับระทึกขวัญ ซึ่งอันที่จริงอาจะเรียกได้ว่า Saboteur คือ The 39 Steps (1935) เวอร์ชั่นของอเมริกาก็ยังได้ หรืออาจจะเป็นหนังเวอร์ชั่นทดลองของ North by Northwest (1959) ดีไหมนะ? 

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Saboteur มีสไตล์ความเป็นอเมริกันจ๋าเรื่องแรกของฮิตช์ค็อก ถึงแม้ว่า Rebecca (1940) จะเป็นผลงานในฮอลลิวู้ดเรื่องแรกของเขาก็ตาม แต่สถานที่ถ่ายทำ, นักแสดงล้วนมาจากอังกฤษ, รวมถึง Suspicion (1941) ด้วย ส่วน Foreign Correspondent (1940) ตัวละครเป็นนักข่าวอเมริกันแต่เนื้อเรื่องเกิดในลอนดอนและเนเธอร์แลนด์, Mr. & Mrs. Smith (1941) เป็นหนังอเมริกันรอมคอมแต่เนื้อเรื่องตรงข้ามกับความเป็นเจ้าพ่อหนังระทึกขวัญเลย จนมาถึง Saboteur เรื่องนี้นี่แหละที่ได้โชว์ความเป็นตัวเองและสังคมวัฒนธรรมอเมริกันจริงๆ ซึ่งดูได้จากตัวละครหรือสถานที่ต่างๆในเรื่องล้วนแสดงถึงความเป็นอเมริกันของแท้เลยไม่ว่าจะเป็นหนุ่มโรงงาน, คนขับรถบรรทุก, คาวบอย, กลุ่มละครสัตว์, คนขับรถแท็กซี่, นางแบบบนป้ายโฆษณา, งานสังคมของเหล่าบรรดาคุณหญิงและสิ่งแวดล้อมอื่นๆด้วย

ถ้าพูดถึงอเมริกา ประชาธิปไตยคงเป็นสิ่งต้นๆที่เรานึกถึงและ Saboteur ก็เช่นกัน หนังเรื่องนี้มีนัยนะสำคัญเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง โดยจุดแรกคือเป็นหนังเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และก่อนหน้านี้ไม่นานพึ่งมีเหตุการณ์ที่พวกอักษะมาทิ้งระเบิดถล่มเพิร์ล ฮาร์เบอร์ หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นการปลุกกระแสรักชาติ, ในเรื่องมีฉากที่โชว์รูปแบบความเป็นประชาธิปไตยด้วยการลงคะแนนเสียงซึ่งฉากดังกล่าวเกิดขึ้นกับกลุ่มตัวละครเล็กๆ ที่กำลังตัดสินใจว่าจะช่วยพระเอกดีหรือเปล่า, รวมไปถึงเทพีเสรีภาพที่แฝงความหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครองด้วย ฮิตช์ค็อกเลือกแลนมาร์คสำคัญได้ถูกจุดจริงๆ นอกจากนี้ใน Saboteur ฮิตช์ค็อกเน้นถึง ‘อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงกับไฟ’ เช่นผู้ก่อการร้ายใช้ไฟในการวางเพลิง รวมถึงยังเติมเชื้อเพลิงในถังดับไฟอีก หรือจะเป็นฉากบนคบเพลิงของรูปปั้นเทพีเสรีภาพและในอีกหลายๆฉาก ซึ่งไฟในที่นี้มีความหมายถึงพลังอำนาจและการเปลี่ยนแปลง อาจจะสื่อเป็นนัยๆว่าเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่มาจากผู้มีอำนาจเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือไฟอาจจะเป็นสื่อสัญลักษณ์ที่ดูชัดเจนที่สุดสำหรับการปั่นป่วนและทำลายความมั่นคงของประเทศซึ่งได้ผลเสียเยอะที่สุด

Saboteur เป็นหนังที่มีความเป็นฮิตช์ค็อกไม่ว่าจะเป็นบทจับผิดตัวและต้องวิ่งหนี, สาวผมบลอนด์ที่ต้องไปตกอยู่ในอันตราย หรือการสอดแทรกอารมขันในการเหน็บแนมเกี่ยวกับผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่มักจะกุมความไม่ซื่อ ส่วนคนธรรมดามักทำตัวถูกที่ ถูกทางเช่น คนขับรถบรรทุกพูดมากแต่ไม่มีพิษมีภัย ชายตาบอดที่เชื่อว่าพระเอกบริสุทธิ์ เรื่องนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์มีพากย์และบรรยายไทยค่ะ

____________________________________

นักแสดงของฮิตช์ค็อก

นักแสดงนำชายหญิงที่ฮิตช์ค็อกวางตัวเอาไว้และอยากร่วมงานด้วยคือ Gary Cooper และ Barbara Stanwyck โดยฝ่ายนักแสดงชายไม่สนใจงานนี้และฝ่ายหญิงติดธุระอื่น นอกจากนี้ Henry Fonda และ Margaret Sullavan อดีตสามีภรรยาก็เคยถูกวางตัวไว้เช่นกันแต่งบไม่พอด้วยอะไรด้วยจึงได้ Robert Cummings ที่พึ่งเซ็นสัญญากับค่าย Universal ไปหมาดๆ และยืมตัว Priscilla Lane จากค่าย Warner Bros. และถึงแม้ว่าผู้กำกับอังกฤษจะเลือกสองนักแสดงนำดังกล่าวเอง แต่ดันไม่ใช่สเป็คตามที่ต้องการเลย ตอนแรกเขามองว่า Cummings นั้นดูดีทีเดียวแต่ผลลัพท์กับสวนทาง ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า Cummings นั้นอยู่ในระดับดาราในหนังตลกเบาสมอง และการแสดงยังดีไม่เพียงพอ ส่วน Lane ก็ไม่เหมาะเป็นสาวผมบลอนด์ของเขา

แต่กระนั้นคนที่ฮิตช์ค็อกดูจะไม่ปลื้มที่สุดคือ Otto Kruger หรือ Charles Tobin หนึ่งในหัวหน้าใหญ่ของแก๊งค์ผู่ก่อการร้าย แรกเริ่มเขาอยากได้ Harry Carey แต่ไม่ได้มาเพราะภรรยาไม่อนุญาติ พร้อมขุ่นเคืองต่อว่าใส่เจ้าตัวอีก ต่อมาเขาเล็งเป้าหมายที่ John Halliday หรือนักแสดงที่เล่นเป็นพ่อของตัวละคร Katharine Hepburn ใน The Philadelphia Story (1940) แต่ Halliday ไม่สะดวกรับเล่นเนื่องจากอยู่ในช่วงพักผ่อนที่ฮาวาย ประจวบเหมาะกับเหตุระเบิดที่ Pearl Harbor พอดีอีก สุดท้ายพอ Kruger รับงาน, ฮิตช์ค็อกก็ต้องทำงานหนักมากในการกำกับ Kruger ว่าจะต้องเล่นยังไง

ส่วนคนที่ฮิตช์ค็อกดูจะชอบสุดๆคือ Norman Lloyd เพราะตัวเขารู้หน้าที่ว่าตัวเองต้องทำยังไงเมื่ออยู่หน้ากล้อง ยิ่งตอนฉากร่วงลงมาจากคบเพลิง Lloyd ใส่ใจในรายละเอียดมากขนาดลงทุนตีลังกาพลิกกลับด้านเพื่อความสมจริงซึ่งทำให้ไม่ต้องสร้างการตัดต่อเยอะแยะ นอกจากนี้เขาได้กลับมาร่วมงานกับฮิตช์ค็อกอีกครั้งใน Spellbound (1945) โดยรับบทคนไข้ที่มีอาการทางจิต และซีรีย์ Alfred Hitchcock Presents ในหลายตอนๆ

032botto2bkruger2bas2bcharles2btobin
Otto Kruger
Norman Lloyd

เทคนิคการถ่ายทำ

ฉากคบเพลิงบนรูปปั้นเทพีเสรีภาพนั้นเป็นการสร้างฉากขึ้นมาใหม่ เพราะสถานที่จริงเขาไม่อนุญาติให้ประชาชนเข้าชมหลังจากเหตุการณ์ก่อการร้าย Black Tom ในปี 1916 หรือช่วงใกล้เคียงสงครามโลกครั้งที่ 1 (เกาะบริเวณใกล้เคียงรูปปั้นเทพีเสรีภาพ)

ฉากในตำนานคือฉากที่ Fry ปลิวลงมาจากคบเพลิง ซึ่งการถ่ายทำใช้เทคนิคพิเศษซึ่งคล้ายๆกับการใช้กรีนสกรีน โดยให้ Norman Lloyd นอนอยู่บนเก้าอี้สีดำที่อยู่บนพื้นดำอีกที จากนั้นวางตำแหน่งกล้องเหนือตัวของเขา และขณะถ่ายทำกล้องจะถูกดึงขึ้นไปด้วยความเร็วทำให้ดูเหมือนเขากำลังตกลงมา ท้ายสุดใช้วิธีซ้อนภาพจากภาพุมสูงของรูปปั้นเทพีเอา ช็อทแบบนี้ถูกนำมาใช้อีกครั้งใน Rear Window 1954 และ Vertigo 1958 ส่วน Die Hard 1988 ก็ถูกใช้ในทำนองนี้

เกร็ดเล็กๆ

  • ชื่อตัวเอก Barry Kane มาจาก ‘Citizen Kane’ (1941) ของ Orson Welles เนื่องจาก John Houseman หนึ่งในทีมงานของฮิตช์ค็อกเป็นเพื่อนของ Welles
  • หนังใช้กล้องถ่ายทำ 4,500 ตัว ฉากอีก 49 เซ็ท, ตัวประกอบอีก 1,200 ! และใช้เวลาถ่ายทำแค่ 2 เดือนเท่านั้น (ธันวาคม 41 – กุมภาพันธ์ 42) ส่วนหนังออกฉายอีกสองเดือนถัดมา
  • มีบางฉากใช้ภาพวาดเป็นพื้นหลัง อย่างเช่นฉากใน Soda City รวมถึงฉากอื่นๆก็มีปนมาด้วย แต่ฮิตช์ค็อกไม่กังวลเรื่องนี้หรอก เพราะเขาคิดไว้แล้วว่าฉากแบบนี้จะตัดทุกๆ 5 วินาที ทำให้คนดูจับไม่ได้
  • หนังเรื่องนี้ยังเป็นแรงบันดาลใจและไกด์ไลน์ให้กับหนังเรื่องอื่นด้วย อาทิ Sydney (Hard Eight, 1996) ในฉากที่ Philip Baker Hall ขอให้ John C. Reilly ช่วยจับพวงมาลัยแทนขณะที่เขาขอจุดไฟสูบบุหรี่เหมือนกับที่พระเอกจับพวงมาลัยให้ชายคนขับ, ใน Remo Williams: The Adventure Begins (1985) ใช้ฉากบนเทพีเสรีภาพ, และเรื่อง The Wrong Guy (1997) ดำเนินตามแบบฉบับของฮิตช์ค็อกเลย

ขอบคุณบทความดีๆจาก

  1. http://www.tcm.com/
  2. https://weeklyhitch.wordpress.com

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


ผู้กำกับ

นักแสดง

ใส่ความเห็น