The Awful Truth (1937)

รีวิวหนังคลาคสิครอม-คอมช่วง 30’s ซึ่งประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ แถมหนังยังเป็นที่นิยมอยู่จนมาถึงปัจจุบัน นำแสดงโดย Cary Grant และ Irene Dunne เป็นเรื่องราวของคู่รักที่หย่ากัน แต่พวกเขาก็ตัดกันไม่ขาดสักที นอกจากนี้หนังเข้าชิงออสการ์ถึง 6 รางวัลเช่นหนังยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และตัดต่อยอดเยี่ยม โดย Leo McCarey ชนะรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม

The Awful Truth (1937) เป็นเรื่องราวของ Jerry และ Lucy Warriner (Carry Grant และ Irene Dunne) สองสามีภรรยาที่ตัดสินใจเลิกรากันเพราะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ระหว่างดำเนินเรื่องหย่าร้างทั้งคู่ต่างเริ่มต้นคบหาดูใจคนใหม่ โดย Lucy ได้ย้ายเข้าไปพักกับป้า Patsy (Cecil Cunningham) ในอพาร์ทเม้นท์หรู และได้ออกเดทกับ Daniel Leeson (Ralph Bellamy) หนุ่มหล่อรวยแต่ติดแม่ผู้ซึ่งพักอาศัยในชั้นเดียวกับเธอ แต่ Jerry ก็ยังคอยแวะวนเวียนมาหาเธอซึ่งทั้งคู่ต่างรับรู้ว่ายังตัดขาดกันไม่ได้

____________________________________

เป็นหนังรอมคอมที่ได้รับความนิยมอย่างมากหลังออกฉาย โดย The Awful Truth เป็นหนังตลกเบาสมองที่ทำให้คนดูในยุคนั้นหลุดพ้นจากโลกความเป็นจริงที่ทั้งเครียดและลำบาก ซึ่งขณะนั้นอเมริกาเผชิญหน้ากับเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) โดยจุดเด่นของหนังคือเล่นกับความขัดแย้ง/ความต่าง เช่ ตัวละครหลักมีความขัดแย้งในตัวเอง Jerry, พระเอกของเรื่องถึงแม้ภายนอกจะดูดีทุกกระเบียดนิ้วแต่บุคลิกนิสัยกลับตรงกันข้าม เขาโกหกไม่ซื่อสัตย์ต่อภรรยาซ้ำร้ายยังจะมาระแวงภรรยาคบชู้อีก ส่วน Lucy, นางเอกถึงจะไม่ได้ทำเรื่องอย่างว่าแต่ก็ปล่อยปะละเลยความรู้สึกของสามี ต่อมาเมื่อทั้งคู่ต่างมีคนใหม่..ทั้งคู่ต่างคบคนที่มีลักษณะนิสัยใจคอต่างกับคนรักเก่า และทั้งหมดทั้งมวล หนังจัดให้เหล่าตัวละครมีฐานะร่ำรวย มีปัญหาบ้าบอๆ ไม่ต้องเครียดกับเรื่องการเงินซึ่งผิดกับโลกความเป็นจริงที่ประชาชนต้องรับมือกับปัญหาเรื่องเงินๆทองๆในช่วงสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ทางด้านการแสดง Irene Dunne กับ Cary Grant มีเคมีที่เข้ากันมาก พวกเขาแสดงรับส่งได้แบบจังหวะพอเหมาะพอเจาะ มีความลื่นไหลเป็นธรรมชาติ ซึ่งไม่แปลกใจเลยที่คนดูต่างยกให้สองคนนี้เป็นคู่ขวัญในตำนาน และภายหลังทั้งคู่ก็มีหนังร่วมกันต่อมาอีกสองเรื่องซึ่งหนีไม่พ้นบทสามีภรรยา นอกจากนี้ The Awful Truth เป็นหนังเรื่องแรกที่เปิดทางให้ Cary Grant ได้เล่นบทที่ท้าทายกว่าเดิม ซึ่งเขาได้รับบทบาทตัวละครที่มีความละเอียดซับซ้อน มีมิติมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากตัวละคร Jerry ที่เขาเล่นนั้นดูดีมีมาดแต่ก็แฝงไปด้วยความเจ้าเล่ห์ทักษะการแสดงดังกล่าวเป็นบันไดต่อยอดในการแสดงเรื่องอื่นๆต่อมา เช่น Suspicious (1941), Notorious (1946),  หรือ An Affair to Remember (1957) การแสดงไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่ แค่ส่งออกมาทางสายตาหรือน้ำเสียงจังหวะการพูดเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว

The Awful Truth ใช้มุกตลก ผ่านการพูดด้วยจังหวะการออกเสียงเน้นคำ ก่อให้เกิดความหมายแบบสองความหมาย หรือการใช้สำเนียงภาษาวิธีการพูดให้ดูตลก ซึ่งสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยภาษาอังกฤษ อาจจะไม่เก็ทและไม่ขำ แต่กระนั้นการแสดงของนักแสดงก็ยังดูน่าสนใจอยู่ สิ่งที่น่าประทับใจอื่นๆในเรื่องเช่น บรรยากาศ สถานที่และเครื่องแต่งกายที่หรูหราดูดีมีคลาส รวมถึงแพ้ความสดใสของนางเอก จากภาพนิ่งเรารู้สึกว่า Irene Dunne ดูจืดมาก แต่พอเป็นภาพเคลื่อนไหวแล้วดูน่ารักมีชีวิตชีวา ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจำหน่ายออนไลน์ เป็นซับอังกฤษค่ะ (ไม่ทราบว่ามีซับไทยหรือยัง ตอนที่ซื้อมาดูเป็นซับอังกฤษค่ะ)

____________________________________

การทำงานในแบบฉบับของ Leo McCarey

Cary Grant และ Leo McCarey

Leo McCarey เป็นผู้กำกับที่เก่งด้านภาพยนตร์ตลก เขามีวิธีการทำงานในสไตล์ของตัวเองซึ่งมันแปลกใหม่สำหรับเหล่านักแสดง ทำให้พวกเขาไม่คุ้นชินและก่อเกิดความหงุดหงิดรำคาญใจ  McCarey เชื่อว่าความสดใหม่ การไม่มีแพลนอะไรเลยคือหัวใจหลักของหนังตลกที่ดี ซึ่งเขานำหลักการคิดแบบนี้ไปใช้กับนักแสดงในการทำงานในกอง 4-5 วันแรก เขามากับกระดาษจดมุกไอเดียใหม่ๆ โดยให้นักแสดงลองทำนู่นสองทำนี่ รวมไปถึงให้นักแสดงนั่งล้อมวงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวกัน สร้างความงุนงงให้แก่บรรดานักแสดง Irene กลุ้มใจจนระเบิดร้องไห้ออกมาทุกวัน Grant ก็เครียดจนป่วย ภายหลังนักแสดงชายปฏิเสธที่จะร่วมงานกับ McCarey เพราะไม่คุ้นเคยวิธีการทำงานแบบนี้ โดยนักแสดงชายได้ส่งรายงานไปถึง Harry Cohn นายใหญ่ Columbia Pictures พาดหัวว่า “ความผิดพลาดของภาพยนตร์เรื่องนี้” พร้อมทั้งขอถอนตัวออกจากหนัง และจะขอชดใช้ด้วยการเล่นหนังอีกเรื่องนึงฟรีๆเลย หรือจะจ่ายค่าเสียหายให้ห้าพันดอลล่าร์ก็ยินดี ฝั่ง McCarey ที่ภายหลังทราบเรื่องก็โมโห Grant เป็นอย่างมากที่ทำไมไม่พูดกับเขาก่อนที่จะไปพูดกับนายใหญ่ McCarey จึงเสนอให้อีกห้าพันดอลล่าร์ถ้าปลด Grant ออกจากเรื่องนี้ได้ สุดท้ายจบที่ว่า Cohn ไม่สนใจคำร้องของทั้งสองพร้อมกระตุ้นให้ McCarey มาทำในแบบปกติ

ภายหลังเหล่านักแสดงต่างยอมรับในฝีมือของ McCarey และยกย่องเขาว่าเป็นอัจฉริยะหนังตลก ผู้กำกับคนนี้ถือคติว่าหนังตลกที่ดีจะต้องสดใหม่เสมอ จะไม่มีการล็อคบทตายตัวทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้เสมอม อย่างแรกเลย McCarey ไม่ยึดติดตามเนื้อเรื่องเดิม โดยเวอร์ชั่นเก่านั้นเน้นไปที่การนอกใจของฝ่ายหญิง แต่เวอร์ชั่นนี้ปรับให้ผู้ชายเองก็ไม่ซื่อสัตย์กับภรรยาเช่นกัน ซึ่งมันสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ชายหญิงเริ่มเท่าเทียมกันมากขึ้น ด้านการแสดง, เขามีบทพร้อมให้นักแสดงแต่จะไม่มีการล็อคบทสนทนา ล็อคตำแหน่งการการยืนแบบตายตัว McCarey เปิดพื้นที่ให้ตัวเขาเองและนักแสดงได้คิดสร้างสรรค์รายละเอียดใหม่ๆออกมา และผลกลายเป็นว่านักแสดงสามารถถ่ายทอดออกมาได้เป็นธรรมชาติอีกด้วย รวมถึง McCarey ยินดีรับฟังและให้การสนับสนุนเพื่อนร่วมงานเสมอ อย่างเช่น เขาให้ ให้ Ralph Bellamy นำสูทของตัวเองมาเข้าฉากเพื่อสร้างความมั่นใจเพื่อให้แสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด Dunne เคยกล่าวภายหลังว่ามีความสุขกับการทำงานในกองมากๆ นักแสดงหลายคนไม่อยากให้วันถ่ายทำจบลงเลย ทุกคนสนุกสนานกันในกองหัวเราะกันไม่หยุดในทุกวันๆ

เมื่อเวลามีปัญหาในกอง มีการแสดงติดขัด McCarey รับมือปัญหาแบบชิวๆ โดยการไปเล่นเปียนโนร้องเพลงไปมาเพื่อคิดมุขใหม่ๆ จนได้คำตอบแล้วจึงค่อยกลับมาถ่ายทำต่อ ส่วน Grant ก็เริ่มจะยอมรับ McCarey เพราะทราบดีแล้วว่าผู้กำกับหนุ่มเข้าใจและเห็นความสามารถของเขาและดึงนำออกมาใช้งาน (การแสดงแบบซับซ้อน มีมิติมากขึ้น ซึ่งเขาไม่เคยเล่นบทบาทแบบนี้มาก่อน) McCarey มองว่าหนังเรื่องนี้มันตรงกับชีวิตจริงของเขา เพราะตัวผู้กำกับหนุ่มเองเคยนึกสงสัยว่าเคยถูกภรรยานอกใจ เขาเข้าใจความรู้สึกแบบนั้น McCarey จึงออกไอเดียให้ Grant ในบท Jerry เลียนแบบท่าทางอากัปกริยาตลกนิดน้อยๆ จากตัวเขาด้วย แต่กลายเป็นว่าพระเอกหนุ่มหยิบเอามาใช้ทั้งดุ้นเลย จะว่า Jerry เป็นร่างสองของ McCarey ก็ว่าได้ นอกจากนี้ Grant และ McCarey ร่วมงานกันอีก 3 เรื่อง: My Favorite Wife (1940) กับ Irene Dunne, Once Upon a Honeymoon 1942 และ An Affair to Remember (1957)

เกร็ดเล็กๆ

  • ตัวหนังสร้างมาจากละครเวทีในปี 1922-23 โดยเนื้อเรื่องประมาณว่าสองสามีภรรยา Satterly หย่าร้างกันหลังจากจับได้ว่าอีกฝ่ายนอกใจ ฝ่ายภรรยาอยากจะแต่งงานใหม่กับชายอีกคน แต่ต้องทำให้ชื่อเสียงของตัวเองกับมาขาวสะอาดก่อนที่คู่หมั้นจะตกลงปลงใจ แต่พอเธอเดินหน้าสะสางปัญหา เธอกลับมาตกหลุมรักอดีตสามีอีกครั้ง
  • เรื่องของการแคสติ้ง Cary Grant นั้นอยากร่วมงานกับ Leo McCarey ผู้กำกับและนายใหญ่แห่ง Columbia ก็เห็นดีเห็นงามจึงตอบตกลงจ้างนักแสดงหนุ่มฟรีแลนซ์ ส่วนของ Irene Dunne เป็นนักแสดงหญิงที่ McCarey อยากร่วมงานด้วย เพราะเห็นว่าเธอเหมาสมกับบทดี เพราะเขามองว่านักแสดงสาวเรียบร้อยๆ แบบนี้ พอมาเล่นหนังตลก มันดูผิดที่ผิดที่ทาง ดูฮาๆ Irene Dunne เองก็ต้องการหาหนังเรื่องใหม่เล่นโดยด่วน เพื่อกลบกระแสวิจารณ์แย่ๆของผลงานก่อนหน้า
  • มีการเปลี่ยนบทของพระรอง Daniel Leeson ให้มาจาก Oklahoma ทั้งที่จริงบทดั้งเดิมคือมาจากอังกฤษและมีแม่เป็นสตรีหม้ายผู้สูงศักดิ์ เนื่องจากเป็นความต้องการของ Cary Grant เพราะว่านักแสดงชายเป็นคนอังกฤษ สำเนียงเป็น transatlantic accent ที่ก้ำกึ่งระหว่างบริติช/อเมริกัน และตัวละครในเรื่องต้องการความแตกต่างหลากหลาย จึงจำต้องเปลี่ยนบทพระรองจากหนุ่มอังกฤษเป็นอเมริกันตอนใต้แทน
  • The Awful Truth ถูกนำมารีเมคเป็นมิวสิคัลภายหลังใช้ชื่อว่า Let’s Do It Again (1953) นำแสดงโดย Jane Wyman และ Ray Milland

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


ผู้กำกับ

นักแสดง

ใส่ความเห็น