Pillow Talk (1959)

รีวิวหนังรอมคอมคลาสสิค Pillow Talk (1959) เป็นเรื่องราวปัญหาวุ่นวายของการแชร์พ่วงโทรศัพท์* ของชายหญิงที่ไม่รู้จักกัน บรรจบให้พวกเขาลงเอยกัน นำแสดงโดย Rock Hudson, Doris Day และ Tony Randall โดยในบทความนี้จะเล่าถึงการใช้เทคนิคจอแยกและเบื้องหลังการถ่ายทำ

*ในสมัยก่อนมีการแชร์พ่วงสายโทรศัพท์ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย อย่างเช่น A กับ B อาศัยในละแวกใกล้เคียงกัน พวกเขาจะแชร์สายพ่วงกัน ระหว่างที่ A ใช้โทรศัพท์ B สามารถยกฟังที่ A พูดโทรศัพท์ได้ แต่นาย B จะไม่สามารถใช้ติดต่อกับคนที่อยากติดต่อได้ ต้องรอให้นาย A วางสายก่อน

Pillow Talk (1959) เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในกรุงนิวยอร์ก ซิตี้ ของ Brad และ Jan สองหนุ่มสาวที่ไม่เคยเจอหน้าพบปะกันสักครั้ง แต่พวกเขาเป็นไม้เบื่อไม้เมาในฐานะผู้ที่แชร์สายโทรศัพท์พ่วงร่วมกัน Jan Morrow (Doris Day) สถาปนิกสาวสวยที่ครองชีวิตโสดต้องเผชิญปัญหาการใช้โทรศัทพ์อยู่บ่อยครั้ง เมื่อ Brad Allen (Rock Hudson) นักแต่งเพลงเพลย์บอยมักใช้โทรศัพท์เพื่อหลีสาวอยู่เป็นประจำ ทั้งสองมักปะทะคารมกันในโทรศัพท์อยู่บ่อยๆ วันหนึ่ง Brad บังเอิญทราบว่า Jan เป็นหญิงสาวที่ Jonathan Forbes (Tony Randall) เพื่อนของเขากำลังตามจีบอยู่ ทำให้เจ้าตัวนึกสนุกคิดจะแกล้ง Jan โดยการเดินหน้าจีบเจ้าหล่อนโดยปลอมชื่อและสำเนียงตัวเองให้เป็นหนุ่มบ้านนอกจากเท็กซัส และเรื่องราวก็วุ่นขึ้นเมื่อ Forbes ตามสืบว่าใครกันที่ขโมยหัวใจของ Jan ไปครอบครองได้ 

____________________________________

Ross Hunter โปรดิวเซอร์เคยบอกว่าตอนที่หนังเสร็จใหม่ๆ ไม่มีโรงหนังไหนยอมนำไปฉายเลยเพราะว่าหนังที่นิยมในช่วงนั้นจะเป็นหนังสงคราม คาวบอย หรือพวกหนังที่เน้น effect ความหวือหวา ยิ่งใหญ่ แถมโปรดิวเซอร์ผู้นี้ยังโดนพูดใส่ว่าหนังตลกจำพวกสไตล์หรูหราแบบ Pillow Talk หมดยุคไปพร้อมๆกับ William Powell (เจ้าพ่อหนังรอมคอมแห่งยุค 30’s) แถมสองนักแสดงนำอย่าง Rock Hudson และ Doris Day ก็เก่าไปแล้ว เดี๋ยวนี้มีดาราหน้าใหม่ๆน่าสนใจกว่าเยอะ อย่างไรเสียฮันเตอร์สามารถชักชวนเจ้าของโรงหนังหนึ่งในกรุงนิวยอร์ก ซิตี้ โดยมีสัญญาเล่นประมาณสองอาทิตย์ แต่ผลตอบรับกลับพลิกตาลปัตร กลายเป็นหนังฮิตขึ้นมา เจ้าอื่นๆที่เคยปฏิเสธฮันเตอร์ต้องกลืนน้ำลายตัวเองและมาดีลธุรกิจอีกครั้งกับเขา

Pillow Talk เป็นภาพยนตร์รอม-คอมที่ดูแล้วไม่ผิดหวังแน่นอน หนังมีเรื่องราวสนุก น่ารักและชวนติดตาม โทนบรรยาดาศของหนังจะออกสีสันพาสเทลสดใสหวานๆ เพราะเรื่องราวมันดูออกจะเพ้อฝัน ซึ่งอาจจะเป็นฝันที่หลายๆคนไม่อยากตื่นเลยด้วยซ้ำ นักแสดงต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีมาก Rock Hudson เล่นได้ดูหล่อร้ายและเจ้าเสน่ห์ ยิ่งตอนวิ้งค์ตานี่..อื้อหือทำเอาเรายิ้มแทบไม่หุบ ส่วนทางด้าน Doris Day มีความน่าหมั่นเขี้ยว ตลกปนน่ารักมาก ยิ่งตอนโกรธยิ่งน่ารัก Day เล่นดูเว่อร์เกินเบอร์ แต่มันตอบโจทย์ของหนัง อีกทั้งเธอดูสง่ามาก ถูกอัพลุคให้ดูแพงสมเป็นสาวในเมืองกรุง เคมีกับ Hudson นี่ก็ลงตัวมาก จังหวะการพูดการแสดงก็เป๊ะไปหมด Tony Randall เป็นตัวละครเสริมที่เล่นเข้าขากับอีกสองตัวละครเอกได้ดีมากๆ ส่วน Thelma Ritter ในบทแม่บ้านเมาค้าง ขโมยซีนทุกคนค่ะ มุขตลกมีเยอะมากในเรื่องแล้วมันก็มาได้แบบพอดีไม่ยัดเยียดเกินไป อาร์ทไดเครื่องแต่งกายคือน่าจดจำ เพลงประกอบทำมาได้ลงตัว รวมๆแล้วก็ทึ่งเหมือนกันคือไม่คิดว่ามันจะสนุกและทำออกมาได้ดีทีเดียว

ความน่าประทับใจต่อมาคือการนำเสนอเนื้อเรื่องโดยใช้สิ่งของที่มีอยู่จริง อย่างโทรศัพท์สายพ่วง และปัญหาจากการใช้งานของสิ่งๆนี้ มาสร้างเป็นเรื่องราวความรักที่น่าจดจำ และถ้าสังเกตดีๆ ชื่อของตัวหลัก ‘Jan’ กับ ‘Brad’ นั้นเป็นการเล่นเสียงคล้ายๆกันด้วยเหมือนจะสื่อว่ายังไงเราสองคนคงต้องลงเอยกัน หนังทั้งเรื่องจะมีมุขตลกสอดแทรกเข้ามาให้เราขำตลอด ซึ่งมีความลงตัวพอดิบพอดี ไม่เยอะไม่น้อยเกินไป แต่จะมีอยู่แค่จุดเดียวที่คิดว่าไม่น่าใส่ลงมาในหนังคือ sub-plot ที่ในคลินิกสูตินารี มีมาทำไมก็ไม่รู้ ไม่ได้ช่วยให้เนื้อเรื่องเดินหน้าเลย เรื่องนี้หาดูได้ง่ายมากมีจำหน่ายที่ร้านใต้โรงหนังลิโด้, ขายในออนไลน์ พร้อมบรรยายไทยค่ะ 


ประเด็นที่จะพูดถึงต่อไปนี้มีเนื้อหาสปอยล์


“….I love the observation that the green in this first date with Rex could be read as symbolizing Jan’s “green” character, as in naive and gullible.”

https://theblondeatthefilm.com/

ได้อ่านรีวิวอันหนึ่งของทางเมืองนอกเขานำเสนอว่าชุดของ Jan ในเดทแรกเป็นสีเขียว ที่สื่อถึงผู้หญิงที่ไร้เดียงสาและอ่อนต่อโลก ไม่ประสีประสา สีเขียวในที่นี้ไม่ได้ทำหน้าที่บอกความหมายของสีตัวมันเองแต่เป็นคำแสลงที่ชาวตะวันตกเขาใช้กันเวลาจะว่าใครไร้เดียงสาแบบ ‘That woman is green’ ผู้หญิงคนนั้นอ่อนต่อโลกมาก มันสอดคล้องที่ Jan ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยว่ากำลังโดนพระเอกของเราต้มซะเปื่อย นอกจากนี้สิ่งที่โดดเด่นมากที่ไม่พูดไม่ได้เลยคืออาร์ตไดเรกชั่นของหนัง ตัวละครนางเอกกับอพาร์ทเม้นของเธอสามารถเล่าได้เลยว่าเธอเป็นคนยังไงตั้งแต่เปิดเรื่องมา Jan อยู่ในชุดนอนสีฟ้าที่ค่อนข้างจะมิดชิด สีห้องและเฟอนิเจอร์ในอพาร์ทเม้นอยู่ในโทนพาสเทลสดใส แสดงว่าเจ้าหล่อนเป็นคนค่อนข้างหัวโบราณและเพ้อฝันในความรัก สีฟ้าสื่อถึงความเฉลียวฉลาด, ความรับผิดชอบ, ปลอดภัยและแฝงไปด้วยความดื้อรั้น นั่นอธิบายถึงคาแร็คเตอร์นางเอกเลย เธอคือสถาปนิกตกแต่งภายในที่ประสบความสำเร็จ มีชีวิตหรูหรา มั่นใจในตัวเองสูงและค่อนข้างหวงเนื้อหวงตัวเองสูงมาก ผิดกับผู้หญิงสองคนของพระเอกที่อยู่ในชุดนอนที่ค่อนข้างเซ็กซี่วาบหวิว นอกจากนี้หนังยังชอบเล่นกับสีเขียว เหมือนสีนี้จะเข้ามาแฝงอยู่ในหนังเรื่อยๆเลย สีเขียวสื่อถึงความร่ำรวย หรูหรา ซึ่งก็สอดคล้องกับบรรยากาศโทนของหนังค่ะ

pillow talk---03

‘Pillow Talk’ แปลว่าการนอนคุยกันของคู่รักหลังเสร็จกิจบนเตียง ซึ่งหนังมันจะมีความกำกวมทะลึ่งตึงตังโดยนำเสนอผ่านการใช้จอแยก (split screen) แค่ฉากเปิดมาก็ค่อนข้างจะเป็นที่น่าจดจำแล้วกับคู่หญิงชายที่นอนอยู่บนเตียงปาหมอนผ่านกันไปมา หัวเตียงของคนทั้งคู่ก็มีสายโทรศัพท์พันอยู่ซึ่งปู mood and tone ของหนังได้เป็นอย่างดี แล้วเราจะมาดูกันต่อว่าหนังใช้เทคนิคนี้ในฉากอื่นๆไหนบ้างและอย่างไร

หนังเปิดเรื่องมาโดยอธิบายคอนเซปต์ของการใช้โทรศัพท์สายพ่วง เป็นฉากที่นางเอกเข้ามาแทรกกลางระหว่างพระเอกกับคู่สนทนา การใช้จอแยกในที่นี้แสดงถึงระยะที่ห่างไกล ซึ่งการวางเฟรมมิ่งนั้นดีมากๆ อย่างฉากที่คุยกันสองคนปกติก็เป็นแค่การแบ่งสองช่องธรรมดาๆ แต่พอเป็นสามคนจะต้องคิดละว่าวางเฟรมยังไงดีให้ดูสมดุล ซึ่งหนังก็สามารถตอบโจทย์ตรงนี้โดยการเพิ่มสามเหลี่ยมคว่ำเข้ามาแทรกกลาง – ซึ่งสามเหลี่ยมมุมคว่ำมักใช้เป็นสัญลักษณ์ในโลกสากลแสดงถึงทิศทางดั่งเช่น Jan ที่เข้ามาแทรกกลางบทสนทนาของอีกฝ่าย นอกจากนี้สามเหลี่ยมคว่ำยังให้ความรู้สึกดุดันอัดแน่น สอดคล้องที่นางเอกที่กำลังโมโห อึดอัด และยิ่งเจ้าหล่อนยืนทำให้รู้เลยว่าเธอไม่โอเค เทียบกับอีกสองคนที่นั่งคุยรู้สึกผ่อนคลาย

pillow talk---02

การนำเสนอแบบจอแยก (split screen) สามารถเล่าเรื่องในเชิงกำกวมด้วยได้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่นในหนัง Indiscreet (1958) มีฉากที่ตัวละคร Cary Grant และ Ingrid Bergman คุยโทรศัพท์หยอกล้อกันระหว่างอยู่บนเตียงจากคนละที่ แต่สิ่งที่จอแยกนำเสนอนั้นมันให้ความรู้สึกว่าพวกเขานอนอยู่ในเตียงเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการการหันหน้าเข้าหากัน ฝ่ายชายตบหลังฝ่ายหญิงเบาๆ และการวางมือที่ดูเหมือนจะจับมือกันอยู่

1958 Indiscreet-01

ฉากข้างต้นล้วนชวนให้คิดกรุ้มกริ่มทั้งนั้นและในหนัง Pillow Talk ก็ได้นำเทคนิคดังกล่าวมาปรับใช้ในหนังด้วย อย่างเช่น Brad ในนาม Rex คุยโทรศัพท์กับ Jan โดยภาพที่นำเสนอจะแบ่งออกเป็นสองช่องที่ฝ่ายชายนอนคว่ำ ฝ่ายหญิงนอนหงายคุยกัน เอ๊ะๆ ลองมองสองสกรีนนี้รวมเป็นหนึ่งดูสิ มันเหมือนทำอะไรกันอยู่นะ? ซึ่งผิดกันเลยกับตอนที่นางเอกเราคุยกับตัวของ Brad ตอนที่เจ้าตัวกลับมาเป็นตัวเอง

pillow talk-01

อีกฉากคือตอนที่ทั้งคู่กำลังแช่อ่างอาบน้ำคุยกัน คือมันเป็นฉากแบบว่าค่อนข้างจะโอ้ว!มากๆ เพราะนำเสนอออกมาได้แบบกรุ้มกริ่มจริงๆ ดูเหมือนกำลังอาบน้ำด้วยกันอยู่เลย การวางจอแยกในตำแหน่งที่พอดีทำให้เหมือนว่าอ่างน้ำของพวกเขาดูเหมือนเชื่อมต่อกันจนดูเป็นอ่างเดียวกัน ตอนคุยกัน Brad และ Jan ก็เอาเท้าพาดกำแพงทั้งคู่ แถมยังเอาเท้าแหย่เล่นกันอีก

pillow talk---01

ต่อมาหนังเรื่อง Down with Love (2003) เนื้อเรื่องจะมีความคล้ายกับ Pillow Talk เลย หนังจัดให้อยู่ในยุคใกล้เคียงกัน พระเอกเป็นเพลย์บอยปลอมตัวมาจีบนางเอกผู้ไม่สนในความรัก โดยพระเอกแกล้งเปลี่ยนลุคมาเป็นหนุ่มสุภาพเพื่อเข้าหานางเอก ฉากการคุยโทรศัพท์ในที่นี้จะมีความไปไกลกว่านี้มาก เพราะมันคือฉากที่สื่อถึงการร่วมเพศแบบรัวๆกันเลย

____________________________________

เรื่องเล่าเบื้องหลัง

ฉากสมจริงที่แลกมาด้วยการเจ็บตัว – มีอยู่ซีนหนึ่งที่เป็นอุบัติเหตุระหว่าการถ่ายทำ เป็นฉากที่ Forbes พา Jan ไปร้านอาหารเพื่อให้เธอสงบสติอารมณ์ หลังทราบความจริงว่าโดนพระเอกเราต้มซะเปื่อย Tony Randall ผู้รับบท Jonathan Forbes ต้องแกล้งทำเป็นสลบหลังจากโดนนักแสดงอีกคนในร้านต่อย แต่นักแสดงคนนี้เขากะแรงผิด เผลอปล่อยหมัดแรงไปทำให้ Randall สลบไปจริงๆ แต่กลายเป็นว่าฉากดังกล่าวเป็นการแสดงที่สมจริงมากเลยถูกเอามาใช้ในหนังที่เราดูกัน

ฉากตอนจบที่ทรมานของ Rock Hudson – ในซีนจบที่ Brad ต้องอุ้ม Jan ออกจากอพาร์ทเม้นท์ของและเดินต่อไปที่อพาร์ทเม้นท์ของเขา Hudson ปวดหลังเป็นอย่างมากในการอุ้ม Day โดยเดินซ้ำไปซ้ำมากว่า 20 เทค จนเจ้าตัวต้องใช้เครื่องพยุงรับน้ำหนักเกาะไว้ที่ไหล่แล้วจึงค่อยให้ Day มานั่งบนเครื่องพยุงที่ว่านี้แทนและใช้ผ้าห่มปิดบังส่วนที่โผล่ออกมา Hudson ได้กล่าวไว้ว่าจริงๆแล้วเขาเอาอยู่นะถ้าอุ้มเดินเทคเดียวผ่าน แต่นี่ไม่รู้กี่เทคไม่จบไม่สิ้นซะที เพราะว่ามีนักแสดงตัวประกอบที่รับบทเป็นตำรวจพูดบทผิดซ้ำซาก จากการพูดแค่ประโยคเดียวว่า ‘เป็นยังไงบ้าง, Brad?’ แต่นักแสดงคนนั้นดันเรียกผมว่า Rock ตลอดเลย

เกร็ดเล็กๆ

  • เป็นหนังตลกเรื่องแรกของ Rock Hudson ซึ่งก่อนหน้านี้เขาเล่นแต่แนวดราม่า Ross Hunter โปรดิวเซอร์เล็งเห็นว่านักแสดงหน้าหล่อมีแววสามารถเล่นบทตลกได้ ส่วนของ Doris Day โปรดิวเซอร์ก็ชักชวนให้เจ้าหล่อน อัพลุคใหม่ให้ดูเซ็กซี่มีสเน่ห์ต่างจากลุคก่อนหน้านี้
  • Hudson ปฏิเสธรับเล่นหนังเรื่องนี้ถึงสามครั้ง เพราะคิดว่าสคริปต์หนังมีความล่อแหลม แถมเขายังยืนยันว่าจะไม่เล่นหนังเรื่องนี้ถ้า Nick Adams (ผู้รับบท Tony Walters) ไม่ได้เล่นเรื่องนี้ด้วย
  • Pillow Talk เป็นเรื่องแรกในสามเรื่องที่ Doris Day, Rock Hudson และ Tony Randall ร่วมงานกัน โดยสองเรื่องต่อมาคือ Lover Come Back (1961) และ Send Me No Flowers (1964)
  • หนังเข้าชิงรางวัลออสการ์ 5 สาขา ชนะมารางวัลเดียวคือ บทหนังยอดเยี่ยม ส่วนที่เข้าชิงสาขาอื่นอาทิ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (Doris Day), นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Thelma Ritter), กำกับศิลป์และตกแต่งสถานที่ยอดเยี่ยมและ เพลงประกอบยอดเยี่ยม และเข้าชิง Golden Globe Awards อีกสามสาขา อาทิ หนังมิวสิคัลตลกยอดเยี่ยม, นักแสดงนำหญิงสาขามิวสิคัลตลกยอดเยี่ยม (Doris Day) และ นักแสดงสมทบชายสาขามิวสิคัลตลกยอดเยี่ยม (Tony Randall)
  • Pillow Talk ถูกจัดอันดับโดย The New York Times ให้เป็นหนึ่งในหนังสุดยอดของปี 1959 และในปี 2002 AFI จัดอันดับ 99 จาก 100 ในสาขา 100 Years…100 Passions.
  • Michael Gordon ผู้กำกับ เคยคิดจะทำหนังภาคต่อในปี 1980 ซึ่งเป็นเรื่องราวของ Brad และ Jan หลังจากแต่งงานมีลูก (วางตัวนักแสดงลูกสาวไว้เรียบร้อยแล้ว) โดยเขาและเธอหย่าร้างกัน Jo ก็เห็นโอกาสทองตอนนี้พยายามจะขอเธอแต่งงานอีกครั้ง ฟากของ Jan พยายามจะคืนดีกับ Brad ส่วนเขาเองวางแผนจะทำอะไรซักอย่าง ตอน Gordon นำโปรเจคไปเสนอกับนักแสดงนำ ทั้งคู่มีท่าทีสนใจ แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นผล เพราะว่า Doris Day เกษียณตัวเองออกจากจอเงินไปแล้ว

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


นักแสดง

ใส่ความเห็น