The Taming of the Shrew (1967)

ถ้าใครเคยดู 10 Things I hate About You (1999) ทราบหรือไม่ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงมาจาก The Taming of the Shrew นิยายตลกของ ‘William Shakespeare’ โดยถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่หลายครั้ง แต่ในตอนนี้หยิบเวอร์ชั่น 1967 มารีวิว และพูดถึงประเด็นว่าหนังเรื่องนี้ sexist หรือไม่?

The Taming of the Shrew (1967) เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอิตาลี ปลายศตวรรษที่ 16 โดย Lucentio (Michael York) นักเรียนหนุ่มจากต่างเมืองได้ตกหลุมรักกับ Bianca ลูกสาวคนเล็กของบาทหลวง Minola แต่ฝ่ายบิดาไม่ยอมให้เจ้าหล่อนออกเรือนก่อน Katharina (Elizabeth Taylor) ผู้เป็นพี่สาวที่นิสัยดุร้าย ไม่มีสุภาพบุรุษใดกล้าข้องแวะกับเธอเลยยกเว้นแต่ Petruchio (Richard Burton) คุณชายสุดเถื่อนที่หมายมั่นปั้นมือจะปราบเธอให้มาเป็นศรีภรรยาให้ได้

____________________________________

หนังเรื่องนี้ทำออกมาได้ดีทั้งบท นักแสดง อาร์ทไดเรกชั่น พร้อมกับประเด็นที่ถกเถียงไม่มีวันจบว่าหนังเรื่องนี้เหยียดเพศหรือไม่? เริ่มต้นที่ส่วนที่เห็นได้ชัดก่อน คือ หนังทำหน้าที่ของมันครบสมบูรณ์ตามฉบับของ Shakespeare บทสนทนาและการแสดงที่ทำให้เราใจจดใจจ่อ ด้านอาร์ทไดเรกชั่นทำออกมาได้สวยงามทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะเครื่องหน้า-ผม คอสตูมหรูหราสีสันสดใส พาเราหลุดออกไปอีกโลก (มู้ดบรรยากาศทำให้นึกถึงหนัง Casanova, 2005)

จุดที่น่าสนใจต่อมาคือ การร่วมงานระหว่าง Liz และ Dick หรือ Elizabeth Taylor และ Richard Burton คู่สามีภรรยาในชีวิตจริง พวกเขาเหมาะสมมากๆกับบทพระ-นาง เคมีเข้ากันดีเยี่ยม แสดงรับส่งตอบโต้กันไปมาด้วยความบ้าปนฮา ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอ ไล่จับ ฟาดตี แกล้งกันไปมาเกือบทั้งเรื่อง นอกจากนี้มันมีความตลกร้ายตรงที่ความสัมพันธ์ของตัวละครพระ-นาง มันแอบคล้ายๆ ชีวิตจริงของ Liz กับ Dick ตรงที่ชีวิตแต่งงานของทั้งสองเต็มไปด้วยความรักที่ร้อนระอุ

ในรายละเอียดการแสดง ชอบตรงที่ตัวละครของทั้งคู่มีความคลั่งรักแต่ไม่พูดออกมา จะสื่อสารทางใบหน้า หรือภาษากายแทน ตัวละคร Katharina ที่ Liz สวมบทนั้น เป็นหญิงสาวที่หน้าตาสวยแต่คลุ้มคลั่งดั่งสัตว์ป่า ฉากเด่นๆของ Liz จะใช้ฝีมือการแสดงทางร่างกายมากกว่าบทสนทนา เช่นเดียวกับตัวละคร Petruchio ของ Dick จะมีความเถื่อนดิบ ความเมา หยาบกร้าน แต่พอเป็นฉากที่ต้องใช้อารมณ์ดราม่าหรือโรแมนติก เขาสามารถแสดงออกผ่านทางหน้าตาและร่างกาย เล่าความรู้สึกตัวละครโดยคนดูไม่รู้สึกจั๊กกะจี้ (ไม่นับตรงส่วนหนวดนะ) ส่วนนักแสดงที่รับบทรองต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี โดยเฉพาะตัวละครที่เล่นเป็นบ่าวคนสนิทของ Petruchio ที่สามารถขโมยซีนได้เรื่อยๆ การแสดงของตัวละครจะมีความเล่นใหญ่ มีความการ์ตูนเข้ากันดีกับโทนหนัง ส่วนภาษาที่ใช้ในหนังจะเป็นอังกฤษแบบ Elizabethan language ซึ่งมาจากยุคของควีนเอลิซาเบธซึ่งสอดคล้องตามเหตุการณ์ในท้องเรื่อง แต่เราฟังแล้วจะงงๆ ไม่ค่อยคุ้นชิน

ประเด็นที่ชวนถกเถียงว่าไม่จบไม่สิ้นว่าเรื่องนี้ sexist หรือเปล่า? ชื่อหนัง The Taming of the Shrew แปลเป็นไทย ประมาณว่าฝึกหญิงปากร้ายให้เชื่อง (Taming = การทำให้เชื่อง / Shrew = หญิงปากร้าย) ซึ่งรวมกับตัวหนังเอง และมองแบบรวมๆ หนังเรื่องนี้เหยียดเพศแบบชัดเจน ตัวละครของ Liz นั้นเปรียบเหมือนสัตว์เพศเมียที่ต้องถูกทำให้เชื่องโดยมนุษย์ผู้ชาย ถูกบังคับให้ทำตามคำสั่ง แต่ถ้าลองปรับมุมมองดูไม่เอาเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยว มองเป็นปัจเจกบุคคลไป การที่ตัวละครของ Liz นั้นนิสัยไม่ดี อาละวาดและทำร้ายคนแบบไม่มีเหตุผล ไม่มีใครกล้าห้ามแม่แต่บิดา ต้องอาศัยตัวละครของ Dick ที่ต้องมาจัดการเปลี่ยนแปลง จะมองมุมนี้ก็เวิคอยู่ แต่คิดไปคิดมาแล้ว แต่อ่าว…สุดท้ายแล้วโดยรวมหนังก็บ่งชี้เรื่องชายเป็นใหญ่อยู่ดี…ตกลงจะมองมุมไหนดี?

งั้นลองมองผ่านจากแว่นของคนในยุคเรเนซองส์ซึ่งเป็นช่วงที่นิยายถูกแต่งดีไหมว่าสังคมค่านิยมเขาเป็นยังไง? นิยายถูกเขียนเมื่อ 400 กว่าปีที่แล้ว ค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งงาน, ชายเป็นใหญ่, รวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัวก็เป็นสิ่งที่ปรากฏในเรื่องและก็เกิดขึ้นจริงในยุคสมัยนั้น ประเด็นแรกคือการแต่งงานมีสองรูปแบบ ‘แบบดั้งเดิม’ คือ แต่งเพราะเงินหรือผลประโยชน์อำนาจ ไม่มีค่านิยมความโรแมนติกเข้ามาเกี่ยว อย่างเช่นในคู่ของพระ-นาง กับแต่งเพราะความรักเหมือนคู่ของน้องสาว ซึ่งตรงนี้บ่งบอกได้ว่าในช่วงสมัยนั้นเริ่มมีค่านิยมความโรแมนติกเข้ามาเกี่ยว อีกกรณีคือความรุนแรงในครอบครัว มันเป็นเรื่องปกติมากที่สามีจะลงไม้ลงมือทำร้ายภรรยาได้ แต่ตัวละครของ Dick ไม่เคยลงไม้ลงมือภรรยาเลย เล่นสงครามประสาทกันมากกว่า สอดคล้องกับช่วงที่นิยายเรื่องนี้ถูกเขียนคือปลายศตวรรษที่ 16 มุมมองการแต่งงานได้มีการเปลี่ยนจากเดิม รวมถึงการทำร้ายร่างกายในครอบครัวได้ลดลง อย่างไรก็ตามชายก็ยังเป็นใหญ่อยู่ดี เพียงแต่ผู้หญิงได้รับการปฏิบัติที่ดีขึ้น นิยายเรื่องนี้เล่าถึงการเปลี่ยนถ่ายของสังคม จากที่ล้าหลังสุดๆ มาเป็นล้าหลังและมีโอกาสพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น สุดท้ายแล้วคำถามที่ว่าหนังมัน sexist ไหม…มันอยู่ที่ว่าเรามองจากมุมไหนมากกว่า

นอกจากนี้ The Taming of the Shrew เคยถูกทำออกมาแล้วในปี 1929 นำแสดงโดย Douglas Fairbanks และ Mary Pickford หรือคู่สามี-ภรรยาในชีวิตจริงเช่นกัน เวอร์ชั่นนี้พิเศษตรงที่เป็นหนัง Shakespeare ที่ใช้เสียงเรื่องแรก แต่นอกนั้นดูไม่ค่อยเวิคเสียเท่าไหร่ การแสดง หรือภาพยังดูไม่ลงล็อค แต่หากใครสนใจดูมีเวอร์ชั่นเต็มในยูทูปนะคะ แต่ถ้าเป็นหนังฉบับ 1967 ที่นำมารีวิวสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์ค่ะ มีซับไทย สรุปโดยรวม The Taming of the Shrew คือหนังที่แต่งจากนิยาย Shakespeare ที่เล่าถึงการปราบภรรยาให้อยู่ใต้อำนาจสามี โดยหนังสามารถขยายหลายประเด็นของสังคมให้คิดต่อได้ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมการแต่งงาน, ความรุนแรงในครอบครัว, รวมถึงแอบทิ้งพื้นที่ให้คนดูได้คิดวิเคราะ์เองว่า..สุดท้ายคนที่ถือไพ่เหนือกว่าในความสัมพันธ์จริงๆแล้วคือใครกันแน่?

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


นักแสดง

ใส่ความเห็น