55 Days at Peking (1963)

รีวิวหนังเกี่ยวกับการเมืองและสงครามอิงจากประวัติศาสตร์จีนปี 1900 หรือในสมัยราชวงศ์ชิงที่กลุ่มชาวจีนรวมตัวกันต่อต้านชาวตะวันตก เกิดเป็นเหตุการณ์กบฏนักมวย (Boxer Rebellion) ต่อมาสถาณการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อชาวชาวต่างชาติถูกปิดต้อนอยู่ในบริเวณสถานอัครราชทูตดิ้นรนเอาชีวิตรอดเป็นเวลากว่าเกือบสองเดือน ช่วงเวลาดังกล่าวถูกนำมาสร้างเป็นหนัง 55 Days at Peking (1963) นำแสดงโดย Charlton Heston, David Niven และ Ava Gardner

55 Days at Peking (1963) เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของเหตุการณ์กบฏนักมวย ชนวนเหตุมาจากที่ทูตเยอรมันถูกลักลอบสังหารจากคำสั่งของ Prince Tuan หนึ่งในเชื้อพระวงศ์ และซูสีไทเฮาก็เห็นดีเห็นชอบด้วย ทางการของจีนจึงร่วมมือกับกลุ่มนักมวยต่อต้านขับไล่ชาวต่างชาติและคนจีนที่เห็นต่าง ส่วนฝั่งของชาวต่างชาติต้องยืนหยัดสู้กับชนพื้นเมืองอนุรักษ์นิยมในค่ายสถานทูตจนกว่ากองกำลังต่างชาติจะบุกเข้ามาช่วย ก่อให้เกิดการร่วมมือของพันธมิตรแปดชาตินำโดย Sir Arthur Robertson (David Niven) ท่านทูตจากสหราชอาณาจักรและ Maj. Matt Lewis (Charlton Heston) นายพันแห่งนาวิกโยธินสหรัฐ

____________________________________

เหตุการณ์กบฏนักมวยเกิดขึ้นในปี 1899-1901 จากการรวมตัวของชาวบ้านที่ไม่พอใจกับชาวตะวันตกที่เข้ามามีอิทธิพลในประเทศจีนมากเกินไป โดยเฉพาะเรื่องของศาสนา, และการทูต ไม่มีใครสามารถจัดการปัญหาน่ารำคาญใจนี้ได้แม้กระทั่งทางการเอง พวกชาวบ้านจึงรวมตัวกันก่อการจลาจลขับไล่ทำร้ายชาวต่างชาติ, หมอสอนศาสนา, คนจีนที่เปลี่ยนมานับถือคริสต์ หรือคนที่เห็นต่าง – ชาวตะวันตกเรียกกลุ่มกบฏดังกล่าวว่าพวก boxer เนื่องมาจากการที่พวกเขามีศิลปะการต่อสู้มวยจีน สุดท้ายสงครามจบด้วยความพ่ายแพ้ของเจ้าของประเทศ ซูสีไทเฮาจำใจต้องเซ็นสัญญาสงบศึก ซึ่งเรียกได้ว่าส่อเค้าลางไม่ดีในการล่มสลายของราชวงศ์มังกรในอีกทศวรรษข้างหน้า เหตุการณ์ในหนัง 55 Days at Peking (1955) ดำเนินเรื่องใกล้เคียงกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ส่วนตัวละครของ David Niven และ Charlton Heston มีเค้าเค้าโครงมาจากบุคคลที่มีอยู่จริง

โดยรวมเป็นหนังที่ดูได้เรื่อยๆ แต่คงเหมาะกับคอหนังแนวสงครามและผจญภัยมากกว่า การดำเนินเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ขาดความกระชับและมีความยาวมากไปหน่อย รวมถึงซับพล็อตของตัวละคร Charlton Heston ที่ยังดูไม่ค่อยลงตัว อย่างไรก็ตามข้อเสียที่กล่าวมาข้างต้นถูกกลบไปด้วยความหวือหวาของงานภาพและเอฟเฟคที่ถ่ายทอดออกมาได้น่าตื่นเต้นเร้าใจโดยเฉพาะฉากต่อสู้ โชคดีที่ได้ Jack Hildyard ตากล้องคนเก่งมารับงานในโปรเจคนี้ เขาเคยฝากผลงานอลังการอย่าง The Bridge on the River Kwai (1957) เป็นที่ประจักษ์มาแล้ว

ทางด้านกำกับศิลป์คือจุดเด่นของหนัง เริ่มต้นจากฉากกรุงปักกิ่งที่อลังการเสมือนจริง ถูกเนรมิตขึ้นมาที่กรุงมาดริด, สเปน สถานที่สำคัญต่างๆในหนังถูกถอดแบบออกมาให้เหมือนกับสถานที่ของจริงในช่วงปี 1900 และต่อมาค่ายได้เคว้นหาตัวประกอบที่เป็นชาวจีนหรือคนหน้าตาเอเชียตะวันออกทั่วยุโรปไปหลายร้อยคน ต่อมาคือเรื่องของคอสตูมที่สะท้อนให้เห็นถึงความงามของแต่ละประเทศ เหมือนได้เห็นชุดประจำชาติในยุคร้อยกว่าปีมารวมกันในที่ที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นคอสตูมในยุค edwardian era ที่ชาวตะวันตกสวมใส่แล้วยังมีชุดเครื่องแต่งกายของทางราชสำนักจีนที่งดงามไม่แพ้กัน แต่ที่เป็นไฮไลท์เด็ดคงเป็นชุดทหารของแต่ละชาติซึ่งแปลกตาที่สุด

การแคสติ้งนักแสดงมารับบทให้ตรงตามลักษณะตัวละครก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งหนังไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ 100% รู้สึกแปลกๆที่ชาวตะวันตกมารับบทคนจีน ดูผิดที่ผิดทาง ยกเว้นแต่ในกรณีของ Flora Robson นักแสดงชาวอังกฤษ ผู้รับบทซูสีไทเฮาที่รู้สึกโอเค เพราะว่าเธอแอบคล้ายซูสีไทเฮาตัวจริงยังไงก็ไม่รู้ – ซึ่งแต่เดิมที Katharine Hepburn เคยถูกแพลนมาให้รับบทนี้ จินตนาการไม่ออกเลยจริงๆว่าจะเป็นยังไง สุดท้ายนี้ถ้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์มีผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้นะคะ 55 Days at Peking (1963) มีลงไว้ในยูทูปพร้อมบรรยายไทย

ปล. หนังไม่ติดลิขสิทธ์ เนื่องจากมีอายุเกิน 50 ปี

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


ผู้กำกับ

นักแสดง

ใส่ความเห็น