Gaslight (1944)

รีวิวหนังนัวร์ – ลึกลับในธีมปลายวิคตอเรียน Gaslight (1944) เป็นเรื่องราวของหญิงสาวที่ถูกสามีตั้งคำถามว่าตัวเธอนั้นอาจจะมีอาการทางจิต นำแสดงโดย Charles Boyer นักแสดงชาวฝรั่งเศส, Ingrid Bergman, และ Joseph Cotton โดยในบทความนี้จะพูดถึงกลิ่นอายหนังนัวร์และการใช้ความรุนแรงในครอบครัวผ่านการกระทำและวาจาที่กระทบกระเทือนทางจิตใจ

Gaslight (1944) ดำเนินเรื่องเริ่มต้นที่อิตาลี Paula (Ingrid Bergman) นักร้องโอเปร่าได้พบรักและแต่งงานกับ Gregory Anton (Charles Boyer) โดยทั้งสองเลือกที่จะมาใช้ชีวิตคู่ด้วยกันที่ลอนดอน ซึ่งในอดีตคือที่อยู่ของ Alice ป้าของ Paula ผู้ที่เคยเป็นนักร้องโอเปร่าชื่อดังที่ถูกฆาตกรรม ชีวิตแต่งงานดูเหมือนจะไปได้ไม่สวย Paula รู้สึกว่าเธอมีอาการหลงลืมๆ มึนเหมือนคนเสียสติ ในขณะที่สามีเริ่มทำตัวเปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อย อย่างไรก็ตามเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ในสายตาของ Brian Cameron (Joseph Cotten) นายตำรวจผู้สนใจในตัวของ Paula

____________________________________

ส่วนประกอบหนังนัวร์ส่วนใหญ่มักจะเล่าเรื่องผ่านภาพขาวดำและศิลปะในการจัดแสง, ตัวละครเอกพยายามหลีกเลี่ยงจากอดีตที่ไม่ดีแต่สุดท้ายต้องกลับไปในวังวนเดิม, หรือไม่ก็เข้าไปพัวพันกับหญิงสาวสวยที่น่าหลงไหลแต่เต็มไปด้วยพิษสง (femme fatale) Gaslight มีความนัวร์ครบเต็มสูตรตามที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น เพียงแต่เรื่องนี้ตัวเอกเป็นผู้หญิง และฝ่ายที่เข้ามาปั่นหัวเธอคือผู้ชายเจ้าเสน่ห์แทน (homme fatal) ซึ่งสอดคล้องกับชื่อหนังเสียจริง โดยคำว่า ‘Gaslight’ นอกจากจะแปลว่าตะเกียงแก๊ซแล้ว ยังมีอีกความหมายคือการชักใยหลอกคนให้เสียสติได้อีกด้วย

เรื่องนี้ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือการใช้ความรุนแรงในครอบครัวผ่านรูปแบบที่สร้างบาดแผลทางจิตใจ โดยศัพท์ที่รู้จักกันในวงกว้างคือ coercive control หรือการพยายามบังคับควบคุมความคิดและพฤติกรรม ซึ่งประเด็นดังกล่าวพึ่งถูกนำมาพูดกันอย่างจริงจังเมื่อราวๆสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เอง การกระทำที่เข้าข่ายบังคับอีกฝ่าย เช่น การขู่, ดูหมิ่น, กักขังไม่ให้เจอคนภายนอก, ควบคุมการแต่งตัว, จนไปถึงกีดกันความต้องการด้านพื้นฐาน อาการของเหยื่อผู้ถูกกระทำแทบไม่มีความรู้สึกเป็นของตัวเอง, สับสน, กลัว , ยินยอมให้ถูกกระทำต่อไป รวมถึงติดอยู่กับโลกไม่เป็นจริงที่ผู้กระทำสร้างไว้ให้ โดยในเรื่อง Gaslight (1944) ตัวละคร Gregory ทำร้าย Paula ผ่านความรุนแรงดังกล่าว ตั้งแต่พูดจาดูหมิ่น ทำร้ายจิตใจ ปั่นหัวทำให้เธอมีทางจิต ความสัมพันธ์ของทั้งสองเป็นตัวอย่างของ coercive control ได้อย่างชัดเจน และในโลกของความเป็นจริง…ความรุนแรงไร้เสียงนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ในชีวิตประจำวัน หลายคนไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ามันคือความรุนแรงและคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันบางประเทศมีกฏหมายลงโทษผู้กระทำผิดแล้วเช่น อังกฤษ, ไอร์แลนด์และบางที่เริ่มหันมาผลักดันกฏหมายนี้อย่างจริงจังแล้ว

นอกจากนี้สิ่งที่เรารู้สึกประทับใจในหนังคือเรื่องของการแสดง ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม เริ่มต้นจากคนที่โดดเด่นที่สุด Ingrid Bergman ถ่ายทอดตัวละครหญิงสาวเสียสติที่ไม่อยู่กับร่องกับรอยออกมาได้สมจริง ซึ่งเจ้าหล่อนทำการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคความเจ็บป่วยทางจิตนี้โดยการไปอยู่สถานจิตเวชเพื่อศึกษาลักษณะอาการผู้ป่วยและนำมาปรับใช้ในการแสดง ขอบคุณในความทุ่มเท Ingrid คว้าออสการ์จากผลงานชิ้นนี้มานอนกอดเป็นครั้งแรก ฝั่งของนักแสดงชาย Charles Boyer และ Joseph Cotton ต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี แต่เหมือน Joseph จะโดน Charles กลบรัศมีเกือบทั้งเรื่อง ซึ่งตัวของนักแสดงเมืองน้ำหอมโชว์ลีลาการแสดงได้ออกมาอย่างน่าประทับใจ โดยเฉพาะการแสดงออกผ่านทางหน้าและน้ำเสียง อีกคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ Angela Lansbury นักแสดงหญิงที่ยังมีลมหายใจอยู่ (ในขณะที่เขียนเธออายุ 95 ย่าง 96 ปี) ผู้รับบทสาวใช้ผู้แข็งกร้าว ขโมยซีนและสร้างความประทับใจให้กับคนดู แถมยังได้เข้าชิงออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมทั้งๆที่เรื่องนี้คือผลงานชิ้นแรกของเธออีกด้วย

โดยรวมหนังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากๆ คนดูรู้อยู่แล้วว่าตัวละครของ Charles น่ะจะทำอะไรกับตัวละครของ Ingrid บ้าง แต่มันพาเราตั้งคำถามว่าเขาทำไปทำไม? ทำอย่างไร? แล้ว Paula จะหลุดจากบ่วงกรรมนี้ได้หรือเปล่า? นอกจากนี้ Gaslight เคยถูกทำออกมาเป็นหนังในปี 1940 แต่เป็นของฝั่งอังกฤษ ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเวอร์ชั่นนี้ เรื่องนี้สามารถหาซื้อได้ตามเน็ตและมีพากย์ไทยค่ะ

หากสนใจเรื่อง Coercive Control สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ
https://kindconnext.com/mankind/coercive-control/
https://www.blockdit.com/posts/5fbb1b2f45d72e0ccd7343cc

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


ผู้กำกับ

นักแสดง

ใส่ความเห็น