A Woman of Distinction (1950)

รีวิวหนังรอมคอมสร้างรอยยิ้ม เล่าเรื่องราวของคณะบดีสาววัยทึนทึกที่สนแต่หน้าที่การงานแต่ได้บังเอิญโคจรมาพบนักดาราศาสตร์โปรเฟสเซอร์หนุ่มใหญ่ผู้ที่จะมาเปลี่ยนให้ก้อนน้ำแข็งไร้ความรู้สึกอย่างเธอต้องละลายกลายเป็นน้ำอุ่น A Woman of Distinction (1950) นำแสดงโดยเจ้าแม่หนังรอมคอม Rosalind Russell, Ray Milland, และ Edmund Gwenn เป็นต้น หนังเรื่องนี้นอกจากจะสร้างเสียงหัวเราะแล้วยังแสดงให้เห็นมุมมองทางสังคมและค่านิยมของเพศหญิงในยุค 1950’s อีกด้วย

A Woman of Distinction (1950) เล่าเรื่องราวของ Susan Middlecott (Rosalind Russell) คณะบดีวิทยาลัยหญิงโสดวัยใหญ่ ผู้ที่พลีกายให้กับหน้าที่การงาน ชื่อเสียงเกียรติยศ และหันหลังให้กับความรักที่อาจเข้ามาเป็นอุปสรรคความก้าวหน้า แต่แล้ววันหนึ่งโชคชะตาเล่นตลกเมื่อสื่อปั้นข่าวว่าเธอกำลังแอบคบหาดูใจกับโปรเฟสเซอร์ Alec Stevenson (Ray Milland) หนุ่มใหญ่บริติชมาดดี ผู้ที่ประสงค์แค่จะมาคืนของสำคัญแก่เธอเฉยๆ Susan พยายามอยู่ห่างจาก Alec เพราะกลัวจะสูญเสียหน้าที่การงานแต่ไม่วายโดนพ่อ (Edmund Gwenn) เข้ามาร่วมแผนการการจับคู่ครั้งนี้ด้วย

____________________________________

โดยรวมเป็นหนังรอมคอม slapstick ที่ตลกน่ารัก ไม่ขำก็อมยิ้ม ไฮไลท์เด็ดของหนังคือฉากตลกโบ๊ะบ๊ะของพระ-นางที่ทุ่มเทกับการแสดงแบบไม่ห่วงหล่อห่วงสวย แถมยังกะจังหวะได้ดีอีกด้วย Rosalind Russell ได้ใจเราไปเต็มๆ ไม่น่าเชื่อว่าคาแร็คเตอร์เจ้าหล่อนที่เป็นถึงคณะบดีผู้ทรงเกียรติจะรั่วได้ขนาดนี้ ส่วน Ray Milland นักแสดงชายชาวอังกฤษผู้นี้แสดงบทบทโปรเฟสเซอร์หนุ่มใหญ่ออกมาได้แบบนุ่มนวลน่ารัก เราชอบการแสดงของเขาที่ไม่ว่าจะมาในบทแนวไหนก็ทำได้ดีทั้งนั้น

นอกเหนือจากฉากตลก มีอยู่ท็อปปิกหนึ่งที่เราในฐานะคนดูยุคปัจจุบันไม่เข้าใจเลยว่าทำไมนางเอกต้องเลือกระหว่างความรักและการงาน ทำไมสังคมถึงบีบตัวละครหญิงไม่ให้มีทางเลือกในการใช้ชีวิต? A Woman of Distinction เป็นหนังตลกเบาสมองที่หยิบยกเรื่องค่านิยมของผู้หญิงมาเป็นท็อปปิกในการเล่าเรื่อง ซึ่งในสมัยนั้นสังคมกำหนดแบบแผนว่าผู้หญิงจะต้องแต่งงานและเป็นแม่บ้านที่ดี (ผ่านการหล่อหลอมจากนิตยสารและสื่อต่างๆที่ทำมาเพื่อผู้อ่านที่เป็นสตรี) ต่อให้จะเรียนสูงจบมหาลัยหรือใช้ชีวิตไปวันๆ ยังไงก็ต้องออกเรือน เลี้ยงลูก และอุทิศชีวิตให้ครอบครัว โดยถูกปลูกฝังว่ามันคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งแล้ว และถ้าหากใครเดินออกนอกกรอบ อยากจะเติบโตในหน้าที่การงานแล้วล่ะก็จงลืมเรื่องชีวิตความรักได้เลย ก็คือคุณผู้หญิงต้องเลือกระหว่างทำงานหรือเป็นแม่ศรีเรือน นี่คือคอนเซ็ปต์คร่าวๆของสังคมในยุคนั้นซึ่งมีความเชื่อมโยงกับตัวหนังพอสมควร – Susan ไม่ได้สนใจความรักและอยากประสบความเร็จในหน้าที่การงาน อีกทั้งการรับเด็กมาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมแสดงว่าเธอไม่ได้ต้องการผู้ชายในชีวิต อีกทั้งแสดงยังสามารถทำหน้าที่เป็นได้ทั้งพ่อและแม่ในคนเดียวกัน ช่างเป็นตัวละครหญิงที่ล้ำสมัยมากๆ แต่กลับสวนทางกับสังคมในยุคนั้นเสียจริง รวมไปถึงบิดาที่อยากให้เธอแต่งงานออกเรือนอย่างสุดๆ ผ่านบทสนทนาที่แสดงให้เห็นมุมมองเพศชายที่มีต่อเพศหญิง ต่อให้รู้ว่ามาในรูปแบบความหวังดีที่พ่อมีต่อลูก..แต่ก็อดรู้สึกเสียใจแทนนางเอกไม่ได้อยู่ดี และในตอนท้ายที่ Susan ตกอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกต้องเลือกระหว่างการงานหรือความรัก เราจะเข้าใจถึงการตัดสินใจของเธอ ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถรับชมได้ในยูทูป

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


นักแสดง

ใส่ความเห็น