หนองบัวแดง (1973)

“ภาพยนตร์ชีวิตบาดจิตฉกาจฉกรรจ์ระหว่างชายหยิ่ง-หญิงจองหอง”

รีวิวหนังระทึกขวัญลึกลับซ่อนเงื่อนฉบับภาพยนตร์ไทย, หนองบัวแดง (2516) เล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่สงสัยในการตายของผู้เป็นแม่และพี่สาวในบริเวณคฤหาสน์ตระกูลเพื่อนรักของพ่อ เธอจึงเดินทางไปที่นั่นเพื่อค้นหาคำตอบ ภาพยนตร์นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, อรัญญา นามวงษ์, เมตตา รุ่งรัตน์, สินีนาฏ โพธิเวส และทัต เอกทัต เป็นต้น หนองบัวแดงเป็นภาพยนตร์ที่เล่นกับธีมความลับ/การปิดบัง ผ่านการนำเสนอเนื้อเรื่องในฉบับดาร์คๆไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศตัวหนัง, ท็อปปิกเรื่องเพศ, และเล่นกับความตลกร้าย 

หนองบัวแดง (2516) เป็นสถานที่ต้องสาปของตระกูลขุนบริพัตรที่ไม่มีใครอยากย่างใกล้ ปริศนาความดำมืดแสนสกปรกกำลังจะคลี่คลายออกมาช้าๆเมื่อ’ลูกน้ำ’ (อรัญญา นามวงษ์) ได้เดินทางมาที่แห่งนี้เพื่อดูศพ’ลูกนก’ พี่สาวที่ได้แต่งงานมีลูกกับนายภูไท (สมบัติ เมทะนี) ลูกชายของขุนบริพัตร แต่ศพเจ้ากรรมดันหายไป ซ้ำร้ายเธอต้องตกกลายมาเป็นเมียของภูไทผู้แสนเย็นชาอย่างไม่เต็มใจ

____________________________________

ภาพยนตร์ไทยเรื่องนี้เป็นหนังแนวระทึกขวัญที่เล่าเรื่องได้สนุกเข้มข้น บวกกับบรรยากาศหลอนอึมครึม ให้ความรู้สึกเหมือนดูหนังผีผสมหนังฆาตกรต่อเนื่อง ด้านนักแสดงได้คู่ขวัญสมบัติ-อรัญญามาร่วมจอ เคมีดีงามจนจิกหมอนเกือบขาด เราไม่มั่นใจว่าลุงแอ๊ด สมบัติเป็นดาราชายสายแอ๊คชั่นหรือเปล่า ซึ่งการที่เห็นแกแสดงในภาพยนตร์แนวโรแมนติกระทึกขวัญก็อาจเป็นสิ่งที่พวกเราไม่ค่อยได้เห็น หรือแตกต่างจากเดิม ในเรื่องเขารับบทเป็นนายภูไท ชายผู้มีความซับซ้อน ปิดบังซ่อนตัวตนและความรู้สึกของตัวเอง ตัวละครดังกล่าวถูกนำเสนอโดยการใส่แว่นตากันแดดตลอดทั้งเรื่อง เราชอบรายละเอียดตรงนี้ดูบอกเล่าตัวละครได้อย่างเรียบง่ายดี ส่วนทางด้านป้าเปี๊ยก อรัญญามาในบทสาวสมัยใหม่ ก๋ากั่น มีความมั่นใจในตัวเองสูง การแต่งตัวแฟชั่นมาแบบจัดเต็ม สวยน่ารักในทุกลุค 

นอกจากนี้มีสองนักแสดงตัวประกอบที่ออกมาทีไรขโมยซีนได้ตลอด คนแรกคือเมตตา รุ่งรัตน์ รับบทเป็นสาหรี เลขาแฟนเก่าของพระเอกที่มาในลุคสาวแรดต๊องๆ ผู้เป็นเฟรนนิมี่*กับตัวละครนางเอก ป้าเมตตาในสมัยนั้นคือตัวแซ่บของวงการภาพยนตร์ไทยอยู่นะ พอแก่ตัวลงก็มารับบทเป็นตัวประกอบช่องเจ็ดอยู่เรื่อยๆ ส่วนอีกคนคือยายอี๊ด สินีนาฏ, นักแสดงอาวุธโสที่หลายคนจดจำแกได้จากบทบาทอาม่าในซิทคอมเฮงเฮงเฮง ยายอี๊ดรับบทเป็นสาวกลางคนสติฟั่นเฟือง ผู้ที่กุมกุญแจสำคัญของเรื่องเอาไว้ 
***เฟรนนิมี (Frenemy) เป็นคำที่ใช้เรียกเพื่อนที่สามารถเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรู ศัพท์ดังกล่าวเกิดจากรวมคำว่า Friend (เพื่อน) + Enemy (ศัตรู) เข้าด้วยกัน

ภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ถูกจริตใครหลายคน เพราะมีการโชว์วัฒนธรรมการข่มขืนและการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิง โดยในเรื่องนายภูไทได้ใช้ตำแหน่ง/อำนาจในการข่มเหงลูกน้ำจนตกเป็นภรรยา หนังแสดงให้เห็นถึงค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ต้องปราบผู้หญิงให้สยบลงด้วยการร่วมเพศเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ แต่ทั้งนี้ก็อดพูดไม่ได้ว่าฉากดังกล่าวเป็นหนึ่งในฉากโรแมนติกที่สุดของเรื่องโดยมองจากมุมมองของคนสมัยก่อน นอกจากนี้เรื่อง’อย่างว่า’ก็คือต้นตอของปัญหาทั้งหมดภายในเรื่องด้วย ดังนั้นหนองบัวแดงจึงใช้ ‘งู’ เข้ามาประกอบกับตัวเนื้อหาของเรื่องด้วย ซึ่งสัตว์เลื้อยคลานดังกล่าวมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความลุ่มหลงทางเพศ และความชั่วร้าย ช่างเข้ากันกับเนื้อเรื่องโดยรวม

บรรยากาศสถานที่หลักซึ่งเป็นบ้านพระเอกมีรายละเอียดน่าสนใจตรงที่มันสามารถสื่อถึงความเป็นอยู่อาศัยของคนในตระกูลขุนบริพัตรที่ล้วนดูลึกลับแปลกประหลาด รวมถึงลักษณะนิสัยตัวละครนายภูไทที่สุดแสนจะเย็นชา ตัวบ้านหลังนี้มองผิวเผินดูสวยหรูหราแสดงถึงฐานะอันมั่งคั่งของตระกูล แต่น่าแปลกที่กลับดูไร้ซึ่งชีวิตชีวาไม่น่าอาศัย เฟอนิเจอร์ของใช้ในบ้านก็ให้ความรู้สึกแข็งทื่อไม่อบอุ่น ต่างจากบ้านนางเอกที่ดูอบอุ่นกว่า

หนองบัวแดงสร้างมาจากนิยายของปณิดา โดยที่เราไม่เคยอ่านนิยายไม่ทราบเลยว่าทำไมผู้แต่งถึงใช้ชื่อนี้เป็นชื่อเรื่อง แต่ถ้าดูตามบริบทโดยรวมของหนัง ‘หนองบัวแดง’ น่าจะสื่อถึงธรรมชาติของดอกบัวที่งดงามสามารถเติบโตอยู่ในลำน้ำที่สกปรก เปรียบเหมือนเหตุการณ์ในหนังที่นางเอกเป็นสิ่งสวยงาม แต่ต้องตกอยู่ในชะตากรรมอันขมขื่น ทั้งนี้ยังสามารถสื่อถึงธีมของหนังที่เล่นเกี่ยวกับการปกปิดความลับได้อีกด้วย โดยบ้านพระเอกอันเป็นสถานที่เกิดเหตุหลักของเรื่องอยู่ในบริเวณหนองบัวแดง และหนองบัวแดงตรงนี้เองก็เปรียบเสมือนฉากหน้าที่สวยงามแต่ฉากหลัง(บ้านพระเอก)กลับเป็นที่เต็มไปด้วยความโสมม ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถรับชมได้ในยูทูปค่ะ

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


นักแสดง

ใส่ความเห็น