The Sheik (1921)

รีวิวหนังเงียบโรแมนติกแนวอาหรับทะเลทราย, The Sheik (1921) เล่าเรื่องราวของชีคหนุ่มที่หลงรักหญิงสาวผิวขาวจึงลักพาตัวมากักขังไว้เพื่อทำให้เธอเป็นของเขา นำแสดงโดย Rudolph Valentino, Agnes Ayres และ Adolphe Menjou เป็นต้น (Loretta Young รับบทตัวประกอบเป็นเด็กอาหรับด้วย) ‘The Shiek’ เป็นหนังที่มิติมุมมองให้พูดถึงอยู่หลายประเด็นเช่นอาการสต็อกโฮล์มซินโดรม, การเหยียดเชื้อชาติ และเป็นหนังที่ส่งให้ Rudolph Valentino กลายมาเป็นเซ็กไอคอนนิคแห่งยุค 20’s

The Sheik (1921) เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทะเลทรายทางแอฟริกาเหนือบริเวณเมือง Biskra อันเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าที่ปกครองโดยชีคหนุ่มรูปงาม Ahmed Ben Hassan (Rudolph Valentino) วันหนึ่งเขาได้พาพวกพ้องมาสังสรรค์ที่คาสิโนในตัวเมืองโดยปิดไม่ให้คนภายนอกเข้า สร้างความไม่พอใจแก่เลดี้ Diana Mayo (Agnes Ayres) หญิงชนชั้นสูงผู้รักอิสระ เธอจึงปลอมตัวเป็นหญิงเต้นระบำเพื่อแฝงตัวเข้าไปข้างใน แต่ไม่วายถูก Ahmed จับได้และเชิญออกไป หญิงสาวอับอายพูดจาดูถูกเขาก่อนเดินออกจากคาสิโนโดยหารู้ไม่ว่าอนาคตข้างหน้าเธอจะต้องตกเป็นเชลยของเขา

____________________________________

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า The Sheik เป็นหนังเงียบที่ aged ไม่ well เพราะเนื้อหาโชว์ความรุนแรงและไม่เท่าเทียมกันทางเพศ อย่างไรก็ตามกลับได้รับความนิยมจากคนดูแม้ว่าจะมีอายุหนึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม อาจเป็นเพราะหนังมีหลากหลายประเด็นให้ถกเถียงและพูดถึงต่างนาๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงต่อเพศหญิงผ่านโรคสต็อกโฮล์มซินโดรม, การเหยียดเชื้อชาติ, รอยยิ้มและน่าสะพรึงกลัวของ Rudolph Valentino และการดัดแปลงเนื้อเรื่องบางส่วนไม่ตรงตามนิยายทำให้บิดเบือนแมสเสจของเรื่อง ซึ่งในบทความนี้จะมาพูดถึงประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นทีละอย่างๆ

เดิมที The Sheik ถูกดัดแปลงมาจากนิยายขายดีของ Edith Maude Hull ในชื่อเดียวกันในปี 1919 โดยเล่นกับธีมลักพาตัว,ข่มขืนและตกหลุมรัก เนื้อเรื่องดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการทางเพศของหญิงสาวพรมจรรย์ในช่วงที่ความเท่าเทียมทางเพศยังไม่ถูกตระหนักรู้ เพราะก่อนการปฏิวัติทางเพศมีความเชื่อว่าผู้หญิงไม่ควรมีเซ็กส์ก่อนแต่งงาน ดังนั้นการที่จะทำให้คาแรคเตอร์นางเอกดูสง่างามตามจารีตครรลองจึงต้องให้เจ้าหล่อนถูกบังคับฝืนใจแทนโดยที่ฝ่ายกระทำคือพระเอกเท่านั้น นั่นรวมไปถึงคอนเซ็ปต์อดัมกับอีฟที่เราเกิดมาคู่กัน คนดูเองก็ชอบที่จะได้เห็นการพัฒนาของตัวละครพระ-นางที่ตอนแรกไม่ถูกกันแล้วค่อยๆเผชิญเหตุการณ์ต่างนาๆ จนก่อเกิดกลายเป็นรักนิรันดร์ และอีกประเด็นของหนังคือโรคสต็อกโฮล์มซินโดรม อันเป็นอาการที่เหยื่อตกหลุมรักหรือเห็นอกเห็นใจคนร้ายหลังได้ใช้เวลาด้วยกันสักพักหนึ่ง โดยเลดี้ Diana นั้นเกิดตกหลุมรัก Ahmed ผู้ชายที่จับตัวเธอมากักขังไว้ ขัดแย้งกับความเป็นตัวตนของเธอที่เป็นสาวรักอิสระ สปริตฟรีมากๆ ภายหลังมีนิยาย, หนังและละครชื่อดังเรื่องอื่นๆ เล่นกับธีมดังกล่าวด้วย เช่น โฉมงามกับอสูร, The Collector(1965), Labor Day (2013) ในฝั่งบ้านเราก็นิยมเนื้อเรื่องทำนองนี้ไม่แพ้กัน เช่น พระสุธน มโนราห์, สวรรค์เบี่ยง, จำเลยรัก เป็นต้น โดยตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นได้ถูกนำมารีเมคอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะจำเลยรักที่รีเมคมาแล้ว 7 ครั้งในรอบ 50 ปี

นอกจากนี้นิยายท่านชีคในยุคต่อมาก็ยังได้รับความนิยมจากผู้เสพอยู่ตลอดจวบจนถึงปัจจุบัน โดยมีการดัดแปลงธีม/เนื้อหาของเรื่องเพื่อขยายให้มีความแฟนตาซีขึ้นไปอีก หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงนิยายเหล่านี้ถึงขายดีนัก แม้เหตุการณ์เขย่าขวัญ 9/11 หรือเหตุก่อร้ายจากอาหรับอื่นๆที่เกิดขึ้นก็ไม่มีผลต่อยอดขายหนังสือ ในบทความของหนังสือพิมพ์ Chicago Tribune วันที่ 24 เมษายน 2006 ได้ให้คำตอบไว้ว่าเพราะนิยายแนวนี้มี ‘ความลึกลับ’ และสร้างจินตนาการทางเพศให้กับผู้อ่านที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคยหนุ่มต่างแดน ซึ่งพวกเขาเป็นได้ทั้งศัตรูและมิตรในคราวเดียวกัน และพวกเขาและเราสามารถจับมืออยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

Rudolph Valentino นักแสดงชายอิตาเลียนพึ่งแจ้งเกิดจากคาแรคเตอร์แนวลาตินใน The Four Horsemen of the Apocalypse (1921) ไปหมาดๆ ก็ทำให้สาวๆหัวใจละลายอีกครั้งหลังเปิดตัวในบทชีค Ahmed ซึ่งดูดีไม่แพ้กับบทหนุ่มละตินก่อนหน้าเลย แต่เมื่อเป็นเรื่องของการแสดงบทเจ้าชายอาหรับแล้วคนดูกลับต้องกุมขมับ เพราะไม่รู้ว่าต้องขำหรือผวาก่อนดีในความโอเวอร์แอคติ้งของนักแสดงชาย โดยเฉพาะรอยยิ้มที่น่าขนลุกตอนจะข่มขืนตัวละคร Diana หรือตอนทำหน้าโกรธที่เห็นชายอื่นมายุ่งกับเธอ อันที่จริงก็พอเข้าใจธรรมชาติของหนังเงียบ นักแสดงจะต้องเล่นใหญ่หน่อยๆ เพื่อทดแทนการไม่ได้ยินเสียง แต่ Rudolph แสดงเกินเบอร์ไปจริงๆ สร้างความตลกแบบไม่ได้ตั้งใจ ส่วน Agnes Ayres ผู้รับบทเลดี้ Diana นางเอกของเรื่องมีความน่ารัก บทบาทในเรื่องเหมือนจะมีความเป็นเฟมินิสต์รักอิสระ แต่พอตกเป็นเชลยของ Ahmed รูปงามกลับกลายเป็นคนอ่อนแอขึ้นมาเสียอย่างนั้น ซึ่งกล่าวเป็นนัยๆว่าเธออาจะเป็นสต็อกโฮล์มซินโดรมก่อนกาลหรือเปล่านะ ท้ายที่สุดคนที่กลับทำให้หนังดูเข้าที่เข้าทางก็คือตัวละครรองอย่าง Raoul สหายสนิทของชีคหนุ่ม รับบทโดย Adolphe Menjou นักแสดงชายเชื้อสายฝรั่งเศส หรือหลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเขาใน Paths of Glory (1957) ของ Stanley Kubrick นักแสดงชายผู้นี้ในบทบาท Raoul ก็จะออกมาในแนวชายผู้มีภูมิปัญญา สุขุมนิ่มนวล การแสดงของเขาจะเล่นไม่ใหญ่ น้อยได้มากอะไรประมาณนั้น ทั้งนี้เราชอบการวางคาแรคเตอร์ตัวละครนี้นะ ไม่โดนท่านชีค Ahmed กลบรัศมีง่ายๆ

จากย่อหน้าข้างบนเมื่อเราพูดถึงลักษณะตัวละครและการแสดงไปแล้ว เราจะเห็นได้ถึงการเหยียดเชื้อชาติเข้ามา เนื่องจากหนังสร้างภาพลักษณ์และความเข้าใจผิดๆ ว่าชายชาวอาหรับเป็นพวกวิตถารบ้าเซ็กส์ ผ่านการแสดงของ Rudolph ที่เล่นใหญ่เกินเบอร์ จงใจทำให้นางเอกกลัว หรือการที่หนังเฉลยในตอนท้ายว่า Ahmed เป็นลูกคนผิวขาว และเขาก็ยังไม่ได้ขืนใจ Diana เลย ทำให้พระเอกดูมีเครดิตขึ้นมาเสียอย่างนั้นเพราะถ้า Ahmed เป็นคนอาหรับจริงๆ นางเอกก็คงเสร็จเขาไปแล้ว นอกจากนี้ตัวละครผิวขาวอย่าง Raoul ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สื่อให้เห็นถึงการเหยียดเชื้อชาติแบบแนบเนียน เพราะตัวละครดังกล่าวทำหน้าที่เป็นแหล่งศีลธรรมของเรื่อง และการแสดงของ Adolphe Menjou ในบทบาท Raoul จึงมีความเป็นธรรมชาติกว่าตัวละครอื่น ซึ่งดูเป็นสุภาพบุรุษเพียบพร้อมไปด้วยการศึกษา

ภายหลังปี 1926 Rudolph Valentino กลับมาเล่นภาคต่อใน The Son of the Sheik ร่วมกับ Vilma Bánky หนึ่งในสตาร์สาวหนังเงียบชื่อดัง โดยเนื้อเรื่องก็ยังวนเวียนอยู่แนวเดิมแต่เพิ่มเติมความซับซ้อนมากขึ้น Rudolph รับสองบทบาทในเรื่องเดียว เป็นทั้ง The Sheik (พระเอกภาคแรก) และ Ahmed ลูกชายผู้เป็นตัวเอกในภาคดังกล่าว อย่างไรก็ตามในช่วงพรีเมียร์หนังนักแสดงชายได้เสียชีวิตลงจากโรคทางช่องท้องด้วยวัยเพียง 31 ปี ซึ่งกลายเป็นว่าบทบาทเจ้าชายอาหรับทั้งสองภาคนี้เป็นที่จดจำแก่คนดู โดยเฉพาะภาคหลังที่ประสบความสำเร็จกว่าภาคแรก สามารถรับชม The Sheik ได้ในยูทูปเลยค่ะ

____________________________________

ขอบคุณที่อ่านและติดตามค่ะ
Classic Reviewer


นักแสดง

ใส่ความเห็น